กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ

โค้งสุดท้าย! กรม สบส. เชิญร่วมแสดงความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทกิจการน้ำพุเพื่อสุขภาพ

โค้งสุดท้าย! กรม สบส. เชิญร่วมแสดงความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทกิจการน้ำพุเพื่อสุขภาพ

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ ต่อร่างกฎกระทรวง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ(ฉบับที่ …) พ.ศ. … ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการ และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม การชำระค่าธรรมเนียม และการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำพุเพื่อสุขภาพ พ.ศ. … เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการกำหนดมาตรฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการน้ำพุเพื่อสุขภาพ ทางเว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตั้งแต่วันนี้ – 20 พฤศจิกายน 2567 ดร.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ประเทศไทยมีแหล่งน้ำพุธรรมชาติ กว่า 129 แห่ง ใน 27 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันกิจการน้ำพุเพื่อสุขภาพยังไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับดูแลและการดำเนินกิจการนี้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้กิจการดังกล่าว มีมาตรฐาน และให้บริการโดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ ตลอดจนเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับบริการที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ อนามัย รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ กรม สบส. จึงได้จัดทำร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับกิจการน้ำพุเพื่อสุขภาพ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ฉบับที่ …) พ.ศ. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการ และร่างกำหนดค่าธรรมเนียม การชำระค่าธรรมเนียม และการยกเว้นค่าธรรมเนียม การประกอบกิจการน้ำพุ เพื่อให้สถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการน้ำพุเพื่อสุขภาพอยู่ภายใต้ตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ดร.นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การแบ่งลักษณะน้ำพุเพื่อสุขภาพ เป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ 1.กิจการที่ให้บริการโดยใช้น้ำพุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มาให้บริการในสถานที่ธรรมชาติ ที่แหล่งน้ำพุนั้นตั้งอยู่ 2.กิจการที่ให้บริการโดยใช้น้ำพุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยลำเลียงหรือขนส่งน้ำพุธรรมชาติ มาให้บริการเพื่อสุขภาพ และ 3.กิจการที่ให้บริการโดยใช้น้ำบาดาลมาให้บริการเพื่อสุขภาพ เป็นต้น กรม สบส. ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ได้ตั้งแต่บัดนี้ – 20 พฤศจิกายน 2567 ผ่านเว็บไซต์ กรม สบส. https://hss.moph.go.th

กรม สบส. เสริมศักยภาพ อสม. ร่วมป้องกันโรค NCDs จัดกิจกรรม “อสม. ชวนนับคาร์บ”

กรม สบส. เสริมศักยภาพ อสม. ร่วมป้องกันโรค NCDs จัดกิจกรรม “อสม. ชวนนับคาร์บ”

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชน ในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs จัดกิจกรรม “อสม. ชวนนับคาร์บ” หนุน อสม.ลงเคาะประตูบ้านให้ความรู้ชาวชุมชนในการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม สร้างพฤติกรรมสุขภาพดี ประชาชนทั่วไทยห่างไกลโรค NCDs ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส. เผยว่า ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2568 “ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง” ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้คนไทยห่างไกลโรค และภัยสุขภาพ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง หรือ NCDs ด้วยการลดหรือไม่ใช้ยาเคมีในการรักษา แต่ให้นำแนวคิดเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาพองค์รวม มาใช้ดูแล ส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้น กรม สบส. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเครือข่ายสาธารณสุขภาคประชาชนอย่าง อสม. จึงได้เร่งผลักดันแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย อสม. ตามแนวคิด “NCDs ดีได้ ด้วยกลไก อสม.” เดินหน้าสนับสนุนองค์ความรู้ในการดูแล และปรับพฤติกรรมสุขภาพให้กับ อสม. ได้นำไปใช้ปฏิบัติและส่งต่อสู่ชุมชน โดยเฉพาะ การวางแผนรับประทานคาร์โบไฮเดรตหรือเรียกสั้นๆ ว่าคาร์บ ในชื่อกิจกรรม “อสม. ชวนนับคาร์บ” ซึ่งตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2567 อสม. ทั่วประเทศ สามารถเข้าใจความหมาย และสูตรคำนวณปริมาณการรับประทานคาร์บ รวมทั้ง เป็นแกนนำสุขภาพลงเคาะประตูบ้านให้ความรู้ชาวชุมชนในการคำนวณปริมาณคาร์บที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยใช้แอปพลิเคชัน SMART อสม. พร้อมบันทึกข้อมูลสุขภาพของประชาชนลงในแอปพลิเคชัน SMART อสม. ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบ “3 หมอรู้จักคุณ” เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยจะมีการขอความร่วมมือจากประธานชมรม อสม. ในทุกระดับทั้ง ภาค เขต หรือจังหวัด ฯลฯ ร่วมติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรม “อสม. ชวนนับคาร์บ” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้ในการป้องกัน และลดความเสี่ยงการเกิดโรค NCDs ของประชาชนชาวไทย นายแพทย์กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก กิจกรรม “อสม. ชวนนับคาร์บ” แล้ว เพื่อให้การลดโรค NCDs ดำเนินการโดยรวดเร็ว กรม สบส. ยังกำหนดแนวทางเสริมความเข้มแข็งให้ อสม. ได้ร่วมมีบทบาทในการลดโรค NCDs ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1. อสม. คัดกรองสุขภาพประชาชน อายุ 35 ปีขึ้นไป โดยใช้แอปพลิเคชัน SMART อสม. 2. อสม.ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ การนับคาร์บ/การควบคุมอาหารหวาน มัน เค็ม/ การออกกำลังกาย 3. สร้างอาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) ดูแลการกินยา สุขภาพใจ จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ตามแนวทางกรม สบส. 4. ติดตามเยี่ยมบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่ วางแผน ติดตาม ประเมินสุขภาพร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำทุกสัปดาห์/เดือนและส่งต่อ NCDs คลินิก และ 5. ร่วมกิจกรรมรณรงค์แก้ไขปัญหา NCDs ในชุมชน สนับสนุนให้เกิดมาตรการชุมชน เชื่อมประเด็นกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย อสม.ภาคประชาชน และชุมชน ต่อไป

กรม สบส. ยกระดับศักยภาพการขับเคลื่อนองค์กรดิจิทัล ผ่านระบบ Biz Portal

กรม สบส. ยกระดับศักยภาพการขับเคลื่อนองค์กรดิจิทัล ผ่านระบบ Biz Portal

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ปรับกระบวนงานบริหารจัดการองค์กรสู่ระบบดิจิทัล นำระบบ Biz Portal มาให้บริการเต็มรูปแบบ ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลและงานบริการของกรม สบส. ได้อย่างสะดวกสบายกว่า 55 รายการ นายแพทย์กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดี กรม สบส. กล่าวว่า ด้วยยุคสมัยและวิถีชีวิตของประชาชนที่มี การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ภาครัฐจะต้องมีการเสริมสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีขององค์กรให้ทันสมัยก้าวทันต่อสถานการณ์ ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่จะพัฒนาหน่วยงานให้เกิดความทันสมัยนั้นจะต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ อย่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ภายในหน่วยงาน เพิ่มศักยภาพการทำงานขององค์กรให้รวดเร็ว ฉับไว สามารถอำนวย ความสะดวกสบายให้กับประชาชนในหลากหลายด้าน โดยกรม สบส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับบริการ ในด้านระบบริการสุขภาพ ทั้งในส่วนของประชาชนและผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลง จึงได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อยกระดับการให้บริการ โดยพัฒนาระบบ Platform เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนงานบริหารจัดการองค์กรสู่ระบบดิจิทัล อำนวยความสะดวกให้ประชาชนหรือผู้รับบริการสามารถทำธุรกรรม ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แบบครบวงจร ผ่านเว็บไซต์ศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (https://bizportal.go.th) ซึ่งปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลและงานบริการของกรม สบส. ได้กว่า 55 รายการ อาทิ งานบริการเกี่ยวกับสถานพยาบาล การขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับหนังสืออนุญาตให้บุคคลทำการประกอบโรคศิลปะ การขอแก้ไขให้ดำเนินการ/ประกอบกิจการสถานพยาบาล (คลินิก) การแจ้งยกเลิกกิจการสถานพยาบาล (คลินิก) การชำระค่าธรรมเนียมรายปี คลินิก/โรงพยาบาล การขอต่ออายุใบอนุญาตให้ดำเนินการและประกอบกิจการสถานพยาบาล ฯลฯ โดยสามารถทำธุรกรรม ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แบบครบวงจร ณ จุดเดียว สามารถลดภาระด้านเอกสาร และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้ง ยังสามารถติดตามสถานะการดำเนินงานด้วยตนเอง ผ่านคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ โดยในปี 2567 มีสถิติผู้ใช้บริการของกรม สบส. ยอดรวมธุรกรรม Biz Portal รวม 11,650 คำขอ ซึ่งคำขอที่ยื่นผ่านระบบ Biz Portal โดย 3 อันดับที่มีคำขอมากที่สุดคือ 1. การขอรับใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล 1,932 คำขอ 2. การชำระค่าธรรมเนียมประจำปี 1,794 คำขอ และ 3. การขออนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล 1,418 คำขอ นายแพทย์กรกฤช ลิ้มสมมุติ รองอธิบดี กรม สบส. กล่าวต่อว่า ระบบ Biz Portal เป็นระบบกลางบริการภาครัฐ เพื่อภาคธุรกิจ เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน/ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ยกระดับการบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้มีความสะดวก ลดระยะเวลา ลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน ไม่ต้องเดินทางไปยื่นเอกสารกับหน่วยงาน แต่สามารถทำได้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ โดยประชาชนหรือผู้ประกอบกิจการสามารถลงทะเบียนออนไลน์ขอรับบริการได้ที่เว็บไซต์ศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ หรือเว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และหากมีข้อสงสัย หรือคำถามสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2193 7000 ในวันและเวลาราชการ เอกสารประกอบ

จุลสารออนไลน์ สบส.ซอย 8 ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567 ขานรับนโยบาย คนไทยห่างไกล NCDs

จุลสารออนไลน์ สบส.ซอย 8 ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567 ขานรับนโยบาย คนไทยห่างไกล NCDs

จุลสารออนไลน์ สบส.ซอย 8 ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567 ขานรับนโยบาย คนไทยห่างไกล NCDs ที่ลิงก์นี้ https://prgroup.hss.moph.go.th/medias/booklet/3557 หรือสแกนคิวอาร์โค้ดในรูปภาพ พบกับสาระความรู้ How to สุขภาพ ข่าวสารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ทุกเดือน ผ่านช่องทาง Facebook จุลสารออนไลน์ สบส.ซอย 8 และเว็บไซต์สำนักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

“นับก่อน รู้ก่อน ห่างไกล NCDs”

“นับก่อน รู้ก่อน ห่างไกล NCDs”

“นับก่อน รู้ก่อน ห่างไกล NCDs” ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( กรม สบส.) ติวนับคาร์บ ผู้บริหาร และบุคลากร กรม สบส. เป็นต้นแบบลดโรค NCDs สื่อสารถึง อสม. และประชาชนตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข

กรม สบส.แนะอย่าหลงเชื่อเอเจนซี่ หรือกูรูความงามพาบินศัลยกรรมข้ามประเทศ

กรม สบส.แนะอย่าหลงเชื่อเอเจนซี่ หรือกูรูความงามพาบินศัลยกรรมข้ามประเทศ

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนพิจารณาให้ถี่ถ้วน อย่าหลงเชื่อเอเจนซี่ หรือกูรูความงามพาบินศัลยกรรมข้ามประเทศ สุ่มเสี่ยงได้รับบริการที่ไม่ตรงกับที่อวดอ้าง อีกทั้ง ไร้กฎหมายคุ้มครองเมื่อได้รับผลกระทบจากบริการ ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศัลยกรรมและเสริมความงาม ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการเติบโตและขยายตัวอย่างมากทั้งในไทยและตลาดโลก จากเทรนด์ของผู้บริโภค ยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความงามและผิวพรรณมากขึ้น โดยมักจะเลือกใช้บริการจากสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น คลินิก หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเปิดโอกาสให้บุคคลบางกลุ่มเข้ามารับบทเป็นเอเจนซี่ (Agency) หรือกูรู (Guru) ด้านความงาม มาให้คำแนะนำ และชักชวนประชาชนให้เข้ารับบริการศัลยกรรมเสริมความงามกับสถานพยาบาลทั้งในหรือต่างประเทศ ซึ่งการที่ประชาชนให้ความสำคัญต่อสุขภาพและความงามย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม การรับบริการทางการแพทย์ทุกประเภทจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อย่าด่วนตัดสินใจเลือกรับบริการเพียงเพราะรับข้อมูลโฆษณา หรือคำแนะนำจากเอเจนซี่ หรือกูรู แม้บางรายมีการยกอาชีพว่าเป็นแพทย์หรือเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านเสริมความงามมากล่าวอ้าง แต่ก็ไม่สามารถเป็นเครื่องการันตีถึงความปลอดภัย ด้วยบริการทางการแพทย์ทุกชนิดมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันผู้บริโภคจึงอาจจะไม่ได้รับผลลัพธ์ตรงตามที่กล่าวอ้าง ประการสำคัญ การรับบริการจากคลินิก หรือโรงพยาบาลเอกชนในต่างประเทศนั้น หากผู้บริโภคได้รับผลกระทบต่อสุขภาพหรือร่างกายจากบริการแล้ว กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลของประเทศไทยก็มิได้มีผลคุ้มครองจากกรณีดังกล่าว ซึ่งอาจจะส่งผลให้การดำเนินคดี หรือการเรียกค่าชดเชยเป็นไปได้ยาก ดร.ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้น เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค กรม สบส.จึงมีระบบเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายสถานพยาบาล โดยศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายตรวจสอบการเผยแพร่โฆษณาของสถานพยาบาลผ่านสื่อโซเชียลอย่างใกล้ชิด หากพบเบาะแสว่ามีเอเจนซี่ หรือกูรู ทำการโฆษณาชักชวนประชาชนให้เข้ารับบริการกับสถานพยาบาลเอกชนในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย จะมีการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ในฐานทำการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุมัติ และหากตรวจสอบพบว่าเนื้อหาของโฆษณา เข้าข่ายเป็นเท็จ โอ้อวดเกินความจริง ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้ง จะมีการขยายผล ติดตามพฤติกรรม ตรวจสอบไปถึงผู้ที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หรือมีความผิดตามกฎหมายอื่นที่มีความเชื่อมโยงในระบบออนไลน์ ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการคุ้มครองผู้บริโภคได้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับระบบริการสุขภาพ อาทิ คลินิกเถื่อน หมอเถื่อน การโฆษณา โอ้อวด เกินจริง ฯลฯ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2193 7000